Site icon RUAY 9

ตำนาน ผีตาโขน งานบุญใหญ่ดังไกลไปทั่วโลก

ผีตาโขน

ผีไทยดังไกลทั่วโลก กับ ผีตาโขน หนึ่งในประเพณีงานบุญใหญ่ของทางภาคอีสาน จัดขึ้นใน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยอย่างหนึ่ง ที่บอกเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อและศรัทธาของบรรพบุรุษที่มีมาอย่างช้านาน และยังนับได้ว่า เป็นผลงานทางศิลปะอีกชิ้นหนึ่งเลยก็ว่าได้ ได้รับความนิยมทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติ

หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อของ ผีตาโขน กันมาบ่อยครั้งแล้ว แต่มีใครได้เคยไปเที่ยวเทศกาลผีตาโขนกันแล้วบ้าง ซึ่งจะมีจัดขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น เป็นการทำบุญครั้งใหญ่ของทางภาคอีสาน ภายในงานเทศกาลจะเต็มไปด้วยบรรยากาศที่สนุกสนานและเป็นกันเอง หากมีโอกาสได้ไป ก็เป็นอีกหนึ่งจุดเช็คอินที่น่าเที่ยวเลยทีเดียว

ผีตาโขนหลากสีสัน

บอกเล่าเรื่องราว ‘ผีตาโขน’

ประเพณีผีตาโขน เป็นการละเล่นในงานบุญครั้งใหญ่ ที่เรียกว่า ‘บุญหลวง’ หรือ ‘บุญผะเหวด’ มีมายาวนานกว่าหลายร้อยปี มีการสันนิษฐานว่า อาจเริ่มต้นครั้งแรกตั้งแต่พุทธศาสนาได้เข้ามาแพร่หลายในประเทศไทย จะมีการจัดขบวนแห่ผีตาโขนกันที่บริเวณ วัดโพนชัย และหน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นประเพณีที่ได้รับอิทธิพลมาจากอาณาจักรล้านช้าง หลวงพระบาง

เรื่องเล่าได้กล่าวว่า การแห่ผีตาโขน เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรี เดินทางออกจากป่ากลับสู่เมืองมีภูตผีมากมายแอบแฝงอยู่กับชาวบ้าน เพื่อส่งทั้งสองพระองค์กลับเมือง เรียกว่า ‘ผีตามคน’ หรือ ‘ผีตาขน’ และได้มีการกลายคำมาเป็น ‘ผีตาโขน’ ในปัจจุบัน

เหตุใดจึงต้องมีการจัดการละเล่น ผีตาโขน

ชาวเลยเชื่อว่า การละเล่นผีตาโขนเป็นการบวงสรวงวิญญาณของบรรพชน เมื่อบรรพบุรุษเสียชีวิตลง ก็จะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่สามารถให้พรและให้โทษได้ในขณะเดียวกัน ควบคุมความเป็นอยู่ของบ้านเมืองได้ เพื่อให้บรรพบุรุษพอใจ จึงจัดการละเล่นผีตาโขนขึ้น เป็นสีสันในงานบุญเลยก็ว่าได้

โดยเฉพาะพิธีอัญเชิญพระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง ตาม ฮีตเดือนสี่ (บุญผะเหวด) ของชาวอีสาน โดยได้รวมเอางานบุญ ฮีตเดือนสี่ (บุญผะเหวด), ฮีตเดือนห้า (บุญสงกรานต์), ฮีตเดือนหก (บุญบั้งไฟ) และ ฮีตเดือนเจ็ด (บุญซำฮะ) มาจัดพร้อมกัน ในช่วงเดือนเจ็ดของทุกปี อยู่ระหว่างปลายเดือนมิถุนายนถึงช่วงต้นเดือนกรกฎาคม

การจัดงานประเพณี ผีตาโขน

การละเล่นผีตาโขนนั้น จะจัดกันเฉพาะในประเพณีบุญหลวง หรือเดือน 8 ตามปฏิทินไทย นิยมจัดกันทั้งหมด 3 วัน ได้แก่

วันแรก – เรียกว่า วันรวม หรือ วันโฮม ทุกคนจะช่วยกันสร้างหออุปคุตขึ้นมาก่อน

วันที่สอง – เป็นพิธีอัญเชิญพระอุปคุตเข้ามาประดิษฐานภายในวัด เชื่อว่าจะช่วยป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ไม่ให้เกิดขึ้นในวันงาน จากนั้นจะเป็นการแห่ขบวนผีตาโขน มีดนตรีประกอบจังหวะ ทุกคนออกมาร่ายรำกันอย่างสนุกสนานตลอดเส้นทางจนกว่าจะถึงวัด

วันที่สาม – เป็นวันประกอบพิธีทางศาสนา อุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ชาวบ้านจะทำการตักบาตรทำบุญที่วัด ฟังเทศน์มหาชาติ และกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด

ประเภทของผีตาโขน

ภายในขบวนแห่ จะมีผีตาโขนทั้งหมด 2 ประเภท ได้แก่ ผีตาโขนใหญ่ และ ผีตาโขนเล็ก

ผีตาโขนใหญ่

เป็นการสร้างหุ่นที่ทำมาจากไม้ไผ่สาน มีขนาดใหญ่กว่าคน 2 เท่า คลุมด้วยผ้าหรือกระดาษสีประดับตกแต่ง แบ่งระหว่างเพศชาย และ เพศหญิง โบราณเชื่อว่า อวัยวะเพศของมนุษย์ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ แต่ละปีจะมีการทำผีตาโขนใหญ่เพียง 1 คู่เท่านั้น จะมีคนคอยควบคุมอยู่ข้างในหุ่น โดยคนที่ทำหุ่นขึ้นมาจะมีเพียงเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพราะต้องได้รับการอนุญาตจากผีหรือเจ้าก่อน ถ้าได้รับอนุญาตแล้ว ก็ต้องทำทุกปีหรือทำติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี

ผีตาโขนเล็ก

เป็นผีตาโขนประเภทที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุด สามารถใส่ได้ทั้งเด็ก วัยรุ่น หรือผู้หญิง จะชายหรือหญิงก็ได้ ทุกคนมีสิทธิ์สนุกเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมสำหรับผู้หญิง เพราะค่อนข้างผาดโผนและซุกซน ทุกคนที่เข้าร่วมจะได้ใส่หน้ากากผีตาโขนขนาดใหญ่ และแต่งกายคล้ายกับผีปีศาจ ส่วนหัวทำมาจาก ‘หวด’ ที่ใช้นึ่งข้าวเหนียว ส่วนหน้ากากทำมาจาก ‘โคนก้านมะพร้าว’ มีการเจาะช่องตาและจมูก สามารถวาดลวดลายสีสันได้ตามต้องการ หลังจากนั้นจะทำการติดเศษผ้าไว้บริเวณด้านบนส่วนหลัง เพื่อให้คลุมปิดส่วนคอของผู้ใส่ไปจนถึงไหล่

บุญบั้งไฟ

เป็นประเพณีของทางภาคอีสานของประเทศไทย ตลอดไปจนถึงประเทศลาว มีที่มาจากเรื่อง ‘พญาคันคาก’ ชาวบ้าน เชื่อว่า พระยาแถน มีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกตามฤดูกาล และมีความชื่นชอบไฟเป็นอย่างมาก หากปีใดไม่จุดบั้งไฟ พระยาแถนจะไม่ให้ฝนตกลงมา

พระอุปคุต

เป็นพระภิกษุองค์สำคัญองค์หนึ่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช มีอิทธิฤทธิ์ปราบท้าววสวัตตี และเป็นปฐมาจารย์แห่งนิกายสรวาสติวาทชื่อ “อุปคุต” แปลว่า ผู้คุ้มครองรักษา

หวด

เป็นภาชนะชนิดหนึ่ง ที่สานด้วยไม้ไผ่ ใช้สำหรับนึ่งข้าวเหนียว นึ่งกบ นึ่งเขียด นึ่งผัก ไว้กิน หากเป็นคำกริยาของภาษาไทย แปลว่า ตีลงไปอย่างแรง หรือฟาดไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง

สรุป

ประเพณีการแห่ผีตาโขน เป็นประเพณีที่ชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ปฏิบัติติดต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน มีอิทธิพลมาจากเรื่อง พระเวสสันดรชาดก เป็นการบวงสรวงดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ เชื่อว่าบรรพชนที่ตายไปจะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดลบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ หรือหายนะกับบ้านเมืองได้

เพื่อให้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษพอใจ จึงได้จัดการละเล่นผีตาโขนขึ้น รวมกับงานบุญผะเหวด งานสงกรานต์ งานบุญบั้งไฟ และงานบุญซ้ำฮะ ซึ่งประเพณีจะมีขึ้นในช่วงรอยต่อของเดือนมิถุนายนจนถึงต้นเดือนกรกฎาคมของทุกปี สำหรับใครที่กลัวผี Ruay 9 ขอแนะนำให้ใช้ เครื่องรางกันผี ไปด้วยแล้วกันเพื่อความอุ่นใจในการเที่ยวเทศกาลแห่งศรัทธาเทศกาลนี้

ขอบคุณภาพบางส่วนจาก เที่ยวเลย

บทความแนะนำ

Exit mobile version